ความเป็นมาของพวงหรีด

 

พวงหรีดที่เห็นกันในปัจจุบันมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมอีทรัสคัน ทางแถบยุโรปตอนใต้ เมื่อประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล โดยค้นพบหลักฐานที่แสดงถึงการมอบมงกุฎทองให้แก่นักรบ เพื่อแสดงถึงเกียรติยศอันกล้าหาญของเหล่านักรบ ตัวมงกุฎทองมีการแกะสลักลายใบไม้และดอกไม้ เมื่อเข้าช่วงยุคโรมันโบราณ มีการนำหรีดมาประดับศรีษะ เรียกกันว่า ลอเรลหรีด (Laurel Wreath) เป็นเพียงการนำใบไม้มาสานต่อกัน

ในช่วงศตวรรษที่ 16-19 ในช่วงแรกชาวคริสเตรียนได้ทำพวงหรีดจากริบบิ้นและกระดาษที่นำมาตกแต่งเป็นใบไม้และดอกไม้เพื่อใช้เฉลิมฉลองในเทศกาลรับเสด็จพระคริสต์เจ้า (Advent) แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้ดอกไม้สด เพราะมีความสวยงามมากกว่า โดยมีลักษณะเป็นทรงกลมคลายพวงหรีดดอกไม้สดในปัจจุบันแต่มีขนาดเล็กกว่า เพราะต้องนำไปแขวนไว้ที่โบสถ์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวงหรีดกลายเป็นตัวแทนความอาลัยและใช้มอบให้กับเจ้าภาพเพื่อแสดงถึงความอาลัยและรำลึงถึงผู้ล่วงลับ

พวงหรีดได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากช่วงนั้นอารยธรรมตะวันตกเริ่มแพร่หลายอย่างมากในยุคล่าอาณานิคม จากหลักฐานภาพถ่ายพวงหรีดถูกนำมาใช้ครั้งแรกในงานพระเมรุของสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา หรือ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2447 ในตอนแรกพวงหรีดได้รับความนิยมเฉพาะสังคมชนชั้นสูงเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปการใช้พวงหรีดในงานศพจึงเริ่มแพร่หลายไปยังชนชั้นกลาง ไปจนถึงบุคคลทั่วไป ซึ่งวัตถุประสงค์ของการมอบพวงหรีดให้เพื่อแสดงถึงความโศกเศร้าและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้วายชนม์ อีกทั้งยังแฝงความหมายที่ว่า “ดอกไม้ย่อมเหี่ยวเฉาตามกาลเวลาเปรียบเสมือนกับ ชีวิตมนุษย์มีเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องปกติของทางโลก”

ในปัจจุบันพวงหรีดได้พัฒนาไปหลากหลายรูปแบบและพวงหรีดบางประเภทสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อีก อาทิ พวงหรีดผ้า พวงหรีดต้นไม้ พวงหรีดพัดลม พวงหรีดนาฬิกา เป็นต้น