ความเป็นมาของดอกไม้จันทน์

 

การจัดงานศพในสมัยโบราณนั้น ยังไม่มีการฉีดยาหรือมีวิธีในการเก็บรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงใช้ไม้ที่มีกลิ่นหอมอย่างไม้จันทน์ มาทำเป็นดอกไม้จันทน์ ควบคู่กับธูปทองและเทียนทอง มากลบกลิ่นภายในงาน และยังถือว่า “ดอกไม้จันทน์” เป็นสิ่งสำคัญสุดท้ายของการจัดพิธีฌาปนกิจศพ เพราะเชื่อกันว่ากลิ่นหอมของดอกไม้จันทน์จะนำดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ไปสู่สรวงสวรรค์ แต่ธรรมเนียมการใช้ดอกไม้จันทน์ในสมัยก่อนนั้น จะใช้กันเฉพาะในพระบรมวงศานุวงศ์ รวมไปถึงชนชั้นสูง สามัญชนทั่วไปจะใช้ไม่ได้ เพราะดอกไม้จันทน์ถือเป็นของสูง ต้องห้าม และมีราคาแพง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ดอกไม้จันทน์เริ่มหายากมากขึ้น กรมพระยาดำรงราชนุภาพจึงคิดค้นนำไม้จันทน์มาทำเป็นแผ่นบางๆ มัดรวมกันเป็นช่อคล้ายดอกไม้ แล้วเรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” โดยเตรียมไว้สำหรับแขกที่มาร่วมงานเพื่อนำไปวางที่พานหน้าโลงศพ ซึ่งธรรมเนียมนี้ก็ได้แผ่ขยายไปในหมู่สามัญชน เมื่อเวลาผ่านไปไม้จันทน์กลายเป็นสิ่งที่หายากหรือหาไม่ได้อีกแล้ว จึงเปลี่ยนมาใช้ไม้โมกแทน จนในปัจจุบันก็เปลี่ยนมาใช้วัสดุอย่างอื่นที่หาง่ายและมีราคาถูก รวมถึงรูปแบบของดอกไม้จันทน์ก็พัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยให้มีความหลากหลายมากขึ้น

ข้อควรรู้ เรื่องดอกไม้จันทน์

“ให้หยิบดอกไม้จันทน์จากพานด้วยตนเองเท่านั้น ห้ามหยิบส่งให้ใครอื่นเป็นอันขาด” เนื่องจากมีความเชื่อจากโบราณว่า ไม้จันทน์เป็นไม้มงคล ไว้ใช้ส่งให้ผู้เสียชีวิตเท่านั้น การที่เราหยิบดอกไม้จันทน์ให้ผู้อื่น เปรียบเสมือนเป็นการสาปแช่งหรือกำลังหยิบยื่นความตาย ความโศกเศร้าให้กับเขา ด้วยเหตุนี้เองเราจึงควรหยิบดอกไม้จันทน์สำหรับตนเองเท่านั้น

“ห้ามชมดอกไม้จันทน์ว่าสวย” ให้บอกว่า “ฝีมือดีหรือปราณีตแทน” เพราะถ้าชมว่าสวยจะเสมือนเราอยากได้ดอกไม้จันทน์นี้เอง หรืออาจมีงานศพตามมาอีก

เรื่องราวดอกไม้จันทน์ที่เรานำมาฝากกันในครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเชื่อที่สืบต่อกันมาของคนโบราณที่ไว้คอยเตือนลูกหลาน ถึงสิ่งไหนควรหรือไม่ควรเวลาร่วมพิธีศพ