ลอยอังคาร…พิธีส่งผู้เป็นที่รักสู่ภพภูมิที่ดี

วันนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการ “ลอยอังคาร” ที่หลายท่านเคยเห็นกันมาบ้าง แต่บางครั้งเราก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร ซึ่งในวันนี้ “ภัณฑโชค” มาไขข้อข้องใจให้ทุกท่านแล้วค่ะ

เนื่องจากคนไทยมีความเชื่อเรื่องหลังความตายที่สืบต่อกันมาช้านานอยู่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเมื่อหลังจากการเผาศพแล้ว จะมีเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาอยู่ ซึ่งจะมีการแบ่งส่วนหนึ่งเก็บไว้บูชา ในส่วนนี้จะเป็นกระดูกหรือที่เรียกว่า อัฐิ โดยเก็บไว้ในโกฐ และส่วนที่นำไปลอยน้ำ ก็คือ “ขี้เถ้า” หรือที่รู้จักกันว่า “อังคาร” เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่า เป็นการส่งดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่ภพภูมิที่ดี ให้ปราศจากภัยตรายอื่นใดเหมือนดั่งสายน้ำที่มีความชุ่มชื่นร่มเย็นเป็นสุข

ที่มาของการลอยอังคาร คาดการณ์กันว่าได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย เนื่องด้วยคนอินเดียถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถชำระล้างบาปได้ จึงนิยมทำพิธีเผาศพที่ริมแม่น้ำคงคา เพื่อนำขี้เถ้ามาโปรยลงแม่น้ำคงคาแล้วดวงวิญญาณจะได้ไปสวรรค์ แต่ถ้าหากผู้ใดเมื่อเสียชีวิตแล้วไม่ได้สัมผัสน้ำในแม่น้ำคงคาก็จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ หรือจะมีบาปติดตัวไปภพหน้า

ในทางพระพุทธศาสนา  การลอยอังคาร เปรียบได้กับการปล่อยวางทุกสิ่งอัน ทั้งร่างกายและสังขาร ยามตายจากเหลือแต่เพียงเถ้าธุลี ฝากไว้ในอากาศ ดิน และน้ำ หวนกลับคืนสู่บ้านอันเป็นนิรันดร์ของทุกสรรพสิ่ง

สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าการลอยอังคารของชาวไทยรับเอาวัฒนธรรมมาจากศาสนาฮินดู และมีการบันทึกไว้ในพงศาวดารอย่างชัดเจนถึงการลอยอังคารของบรรดาเจ้านายต่างๆ จนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 5 มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นบรรจุอัฐิธาตุ (กระดูก) ใน “พระเจดีย์” นิยมกันมากในหมู่ชนชั้นสูง แต่ถ้าเป็นคนชั้นล่าง ก็เป็นแต่เพียงฝังอัฐิธาตุ หรือเอาไปกองทิ้งไว้โคนต้นไม้ เรียกกันว่า “สถูป” ซึ่งวัฒนธรรมการบรรจุอัฐิธาตุในเจดีย์นี้ไทยเรารับมาจากทางพระพุทธศาสนา

อุปกรณ์ประกอบพิธี ลอยอังคาร แบ่งเป็น 3 ชุด 

  1. เครื่องไหว้แม่ย่านาง ประกอบด้วย

-ดอกไม้สด 1 กำ หรือพวงมาลัย 1 พวง

-ธูป 7 ดอก เทียนหนัก 1 บาท 1 เล่ม

-พานเล็ก 1 ใบ (สำหรับใส่ดอกไม้ธูปเทียน)

-เชือก 1 เส้น (สำหรับมัดธูปและดอกไม้ ไว้ที่เสาหัวเรือ)

  1. เครื่องบูชาเจ้าแม่นทีและท้าวสีทันดร

-กระทงดอกไม้ 7 สี 1 กระทง

-ธูป 7 ดอก เทียนหนัก 1 บาท 1 เล่ม

-พานโตก ขนาดกลาง 1 ใบ (ใช้วางกระทงดอกไม้ 7 สี)

  1. เครื่องไหว้อังคารบนเรือ

-ลุ้งใส่อังคาร และผ้าขาวสำหรับห่อลุ้ง

-พวงมาลัย 1 พวง

-ดอกมะลิ กลีบกุหลาบ หรือดอกไม้อื่น ๆ (สำหรับผู้ร่วมพิธีโรยบนอังคาร)

-ดอกกุหลาบ เท่าจำนวนผู้ร่วมพิธี

-น้ำอบไทย 1 ขวด

-ธูปเทียนเครื่องทองน้อย 1 ชุด (หรือธูป 1 ดอก เทียนหนัก 1 บาท 1 เล่ม พร้อมกระถางธูปเชิงเทียน 1 ชุด)

-สายสิญจน์ 1 ม้วน

-พานโตกขนาดกลาง 1 ใบ (สำหรับรองลุ้งอังคาร)

-พานก้นลึกขนาดเล็ก 1 ใบ (ใส่ดอกไม้ต่าง ๆ)

-พานก้นตื้น 1 ใบ (ใช้ใส่เงินเหรียญ)

ลำดับขั้นตอนสำหรับทำพิธีลอยอังคาร 

ขั้นตอนที่ 1 การขออนุญาติแม่ย่านางเรือ

คณะญาติมิตรของผู้ล่วงลับนำอังคารไปสู่ท่าเทียบเรือ จากนั้นพิธีกรจะนำประธานในพิธี หรือญาติอาวุโสลงเรือก่อน นอกนั้นรอบนท่าเทียบเรือ เมื่อประธานในพิธีลงเรือแล้วจึงนำดอกไม้สดและธูปเทียนที่ใส่รวมไว้ในพานจุดบูชาแม่ย่านางบริเวณหัวเรือ เพื่อกล่าวบูชาและขออนุญาตแม่ย่านางเรือ โดยประธานจะกล่าวเองหรือให้พิธีกรกล่าวนำก็ได้ เมื่อทำพิธีบูชาแม่ย่านางเรือเสร็จแล้ว ญาติมิตรของผู้ล่วงลับจึงสามารถนำอังคารลงเรือและออกเรือไปจุดที่จะลอบอังคารได้ค่ะ

ขั้นตอนที่ 2 การไหว้อังคารบนเรือก่อนทำพิธีลอยน้ำ

เมื่อหยุดเรือบริเวณที่จะลอยอังคารแล้ว พิธีกรจึงเปิดลุ้ง (ภาชนะดินปั้นที่ใส่อังคาร) เพื่อจัดเครื่องไหว้ให้ประธานในพิธี ประธานจุดธูปเทียนไหว้อังคารและสรงด้วยน้ำอบไทย โรยดอกมะลิ กลีบกุหลาบ และดอกไม้อื่น ๆ เมื่อทุกคนไหว้อังคารเสร็จแล้ว พิธีกรจึงห่อลุ้งอังคารด้วยผ้าขาวที่มีขนาดกว้าง-ยาวประมาณครึ่งเมตร แล้วรวบมัดด้วยสายสิญจน์ทำเป็นจุกข้างบนและสอดพวงมาลัยเข้าไป หลังจากนั้นพิธีกรจึงแจกดอกกุหลาบให้กับคณะญาติมิตรคนละ 1 ดอก

ขั้นตอนที่ 3 การบูชาเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดร

พิธีกรจัดเครื่องบูชาเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดรให้แก่ประธาน จากนั้นประธานจึงจะจุดเทียน 1 เล่ม ธูป 7 ดอกที่กระทงดอกไม้ 7 สี แล้วจึงกล่าวบูชาและฝากอังคารกับเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดร โดยประธานกล่าวเอง หรือมีพิธีกรกล่าวนำก็ได้ค่ะ

ขั้นตอนที่ 4 เริ่มการลอยอังคาร

เมื่อประธานหรือพิธีกรกล่าวบูชาฝากอังคารกับเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดรเรียบร้อยแล้ว พิธีกรจึงเชิญทุกคนยืนไว้อาลัยประมาณ 1 นาที จากนั้นประธานจึงโยนเหรียญลงทะเล เพื่อซื้อที่ตามธรรมเนียมแล้วลงบันไดเรือทางกาบซ้าย เพื่อลอยกระทงดอกไม้เจ็ดสี โดยถือด้วยมือทั้งสองข้างแล้วประคองวางลงบนผิวน้ำแล้วจึงอุ้มลุ้งอังคารวางตามลงไปบนผิวน้ำ โดยให้ผู้ร่วมพิธีทุกคนถือสายสิญจน์ไปด้วย แต่ถ้าหากกาบเรืออยู่สูงจากผิวน้ำมากเกินไปและไม่มีบันไดลงเรือ ให้ใช้สายสิญจน์ทำเป็นสาแหรก 4 สาย โดยใส่กระทงดอกไม้เจ็ดสี 1 สาแหรก และใส่ห่อลุ้งอังคาร 1 สาแหรก ค่อยๆ หย่อนลงไปบนผิวน้ำ (ห้ามโยนลงไปเด็ดขาด) และเมื่อห่อลุ้งอังคารลงสู่ผิวน้ำแล้วให้โรยกลีบกุหลาบ ธูปเทียนตามลงไป เพื่อทําการสักการบูชาอังคารเป็นวาระสุดท้ายแล้วทุกคนยกมือไหว้ พร้อมกับกล่าวคำอวยพรแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วว่า “ขอจงไปสู่สุคติ จงอยู่เป็นสุข ๆ เถิด”  จากนั้นก็ให้แล่นเรือวนซ้ายทั้งหมด 3 รอบ ถือว่าเสร็จพิธีแล้วค่ะ

ส่วนเครื่องสักการบูชาต่างๆ และพวงหรีดที่ใช้ในพิธี บางที่ไม่นิยมทิ้งลงในทะเล เพราะจะทำให้น้ำในทะเลเกิดความสกปรกและจะทำให้เกิดความลำบากใจแก่ชาวประมงทั้งหลาย

 

ข้อควรรู้อื่นๆ

สถานที่ : ที่คนนิยมไปลอยอังคารจะเป็นบริเวณปากอ่าวหรือปากแม่น้ำกันเป็นส่วนใหญ่

ไม่ลอยอังคารได้ไหม : เราจะลอยหรือไม่ลอยอังคารก็ได้ เพราะจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของญาติ และความต้องการของผู้วายชนม์ด้วย ว่าต้องการจะให้จัดการกับเถ้ากระดูกของตนอย่างไร