บวชหน้าไฟ ส่งผลบุญให้ผู้ล่วงลับ

การบวชหน้าไฟ อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การบวชสามเณรหน้าไฟ เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน เนื่องจากถือเป็นการบวชเพื่ออุทิศผลบุญให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว และยังแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณหรือเป็นการตอบแทนบุญคุณค่ะ โดยปกติจะนิยมบวชกันในวันที่เผาศพ หลังทำพิธีเผาเสร็จแล้วมักจะสึก บางท่านจะเรียกวิธีการบวชแบบนี้ว่า “บวชเช้าสึกเย็น” เหตุผลที่เรียกกันอย่างนี้ก็เนื่องจากเพียงบวชเป็นสามเณรให้อยู่หน้าไฟเท่านั้น บางครั้งอาจบวชนานถึง 3 วัน 7 วันก็ได้เหมือนกัน มีความเชื่อกันว่าหากลูกหลาน เครือญาติเป็นผู้บวชให้กับผู้หลัก ผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้ตายจะได้บุญมาก ดังนั้นเราจึงมักเห็นการบวชลักษณะนี้ได้ทั่วไปในงานงานศพของคนไทยนั่นเองค่ะ

การบวชหน้าไฟนั้นมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เพียวแค่ทำพิธีโกนผม และนำจีวรที่เตรียมไว้เข้าไปหาอุปัชฌาย์ ซึ่งก็คือ พระภิกษุผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการบวช เพื่อทำพิธีก็เป็นอันถือว่าได้บวชเป็นเณรหน้าไฟแล้ว จะเห็นได้ว่า มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก จะต่างกับการบวชเป็นพระภิกษุที่จะมีขั้นตอนที่มากกว่านี้

การบวชที่จะให้ผู้ล่วงลับได้บุญมากนั้น ผู้ที่จะบวชต้องบวชด้วยใจจริง หรือมีความตั้งใจที่จะบวช พร้อมปฏิบัติกรรมฐานเพื่ออุทิศผลบุญกุศลให้ผู้วายชนม์ แบบนี้ถึงจะเป็นการบวชหน้าไฟที่แท้จริง และได้บุญกุศลจริงด้วยค่ะ